กินข้าว กินขนมปัง WEIRD
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
การกินข้าวกับการกินขนมปังมีผลต่อวิธีคิดของมนุษย์หรือไม่ เป็นเรื่องที่ถูกนำมาวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ WallStreet Journal เมื่อ 30 พฤษภาคม
ซึ่งผมขอนำมาแปลสรุปให้อ่านกันในวันนี้
การวิเคราะห์การกินข้าวกับการกินขนมปังว่ามีผลต่อวิธีคิดอย่างไรนั้นเป็นบทความที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Science เสนอโดยนาย Thomas Talhelm และคณะจากมหาวิทยาลัย Virginia โดยสรุปว่า สังคมที่กินขนมปังมีแนวคิดแตกต่างจากสังคมที่กินข้าว คือ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่เล็กกว่ามาก แต่จะเป็นพวกที่มีแนวคิดแบบ WEIRD คือ เป็นพวกตะวันตก (West) มีการศึกษา (Educated) อยู่ในสังคมอุตสาหกรรม (Industrialized) ร่ำรวย (Rich) และมีประชาธิปไตย (Democratic) โดยกลุ่มนี้จะมีความคิดที่เน้นความเป็นตัวตน (individualistic) ในขณะที่กลุ่มที่กินข้าวจะให้น้ำหนักกับพรรคพวกและความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อน (Communal, relationships)
ความแตกต่างในทางความคิดนั้นนักจิตวิทยาพิสูจน์ได้จากการวิเคราะห์พฤติกรรม เช่น หากขอให้วาดภาพเครือข่ายทางสังคมของตัวเองโดยใส่ชื่อตัวเอง ญาติมิตรและเพื่อนๆ ในวงกลมและให้โยงความสัมพันธ์โดยขีดเส้นก็จะพบว่า คนอเมริกันนั้นวาดรูปวงกลมที่มีชื่อตัวเองใหญ่กว่าวงที่มีชื่อของเพื่อนๆ ประมาณ 1/4 นิ้ว แต่คนญี่ปุ่นจะวาดวงกลมที่ใส่ชื่อตัวเองเล็กกว่าวงกลมที่ใส่ชื่อของเพื่อนๆ และญาติมิตร หรือเมื่อนักจิตวิทยาถามว่าคุณจะให้รางวัลความซื่อสัตย์ของเพื่อนและคนแปลกหน้าเท่าไหร่ หรือคุณจะลงโทษความคดโกงของเพื่อนและคนแปลกหน้าเท่าไหร่ ก็พบว่าคนเอเชียจะให้รางวัลคนซื่อสัตย์ที่เป็นเพื่อนมากกว่าคนแปลกหน้าและจะลงโทษเพื่อนที่คดโกงเบากว่าลงโทษคนแปลหน้า ในขณะที่คนตะวันตกจะให้รางวัลและลงโทษคนที่ซื่อสัตย์และคนที่คดโกงทั้งที่เป็นเพื่อนและเป็นคนแปลกหน้าเท่าเทียมกัน
บททดสอบประเภทนี้สะท้อนความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนกินข้าวกับคนกินขนมปัง แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น เมื่อถามว่า 3 สิ่งต่อไปนี้มีอะไรที่มีความสัมพันธ์จับคู่กันได้คือ สุนัข กระต่าย และแครอท ในกรณีของคนตะวันตก (กินขนมปัง) นั้นมักจะเลือกสุนัขกับกระต่าย เพราะมองได้ว่าเป็นสัตว์สี่เท้าเหมือนกัน แต่สำหรับคนเอเชียนั้นมักจะเลือกกระต่ายกับแครอท เพราะกระต่ายกินแครอท ทั้งนี้ มิได้บอกว่าการจับคู่ใดเป็นคู่ถูกหรือเป็นคู่ผิด แต่เป็นการสะท้อนว่าคนตะวันตกกับคนเอเชียมีวิธีคิดที่ต่างกัน
แนวทางอธิบายความแตกต่างทางความคิดโดยแบ่งแยกระหว่างคนกินข้าวกับคนกินขนมปังนั้นอาจไม่ถูกต้อง เพราะความแตกต่างทางวิธีคิดอาจเป็นผลจากการอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมที่จะต้องมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในภาคเกษตรที่ต้องพึ่งพาความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่บ้านหรือชุมชน แต่อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าพิจารณาคือการปลูกข้าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากแรงงานของหมู่บ้านและชุมชน ทั้งนี้ หนึ่งครอบครัวจะไม่สามารถปลูกข้าว ผันน้ำหรือเกี่ยวข้าวด้วยตัวเองได้เลย แต่ในกรณีของการปลูกข้าวสาลี (ที่ใช้ทำขนมปังนั้น) ครอบครัวเดียวก็สามารถปลูกข้าวสาลีและเก็บเกี่ยวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นๆ
ดร. Talhelm และคณะจึงทำการวิจัยภูมิภาคต่างๆ ในประเทศจีนที่ปลูกข้าวและปลูกข้าวสาลี โดยชุมชนที่ถูกนำไปวิจัยนั้นใช้ภาษาเดียวกัน มีภูมิหลังประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกัน กล่าวคือมีความแตกต่างหลักเพียงด้านเดียวคือกลุ่มหนึ่งปลูกข้าว แต่อีกกลุ่มหนึ่งปลูกข้าวสาลี ผู้วิเคราะห์ได้ทดสอบบุคคลทั้งสองกลุ่มโดยใช้แนวคำถามดังที่กล่าวข้างต้น และพบว่าคนจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวสาลีนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับคนกลุ่ม WEIRD หรือคนตะวันตกมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งมีแนวคิดเหมือนคนเอเชียอย่างชัดเจน ทั้งนี้ คนทั้งสองกลุ่มที่นักวิเคราะห์นำมาทดสอบนั้นมิได้เป็นผู้ปลูกข้าวสาลีหรือข้าวแต่การที่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวทำให้ได้รับผลพวงจากการเลี้ยงดูและเติบโตในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างกัน ทำให้มีวิธีคิดที่แตกต่างกันไปด้วย
นักวิเคราะห์สรุปว่าปัจจัยดังกล่าวข้างต้น (ปลูกข้าวหรือข้าวสาลี) สามารถอธิบายความแตกต่างในวิธีคิดของคนได้ดีกว่าการพัฒนาหรือความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กล่าวคือ ในภูมิภาคของจีนที่มีประวัติการปลูกข้าวแต่ปัจจุบันพัฒนาไปสู่สังคมอุตสาหกรรมก็ยังมีวิธีคิดที่มีพื้นฐานมาจากความสำคัญของกลุ่มมากกว่าความสำคัญของแต่ละบุคคล นอกจากนั้นยังพบว่าคนที่อยู่ในสังคมของคนกลุ่มนั้นจะมีการหย่าร้างน้อยกว่าคนที่อยู่ในสังคมที่เน้นความสำคัญของบุคคล แต่ในอีกด้านหนึ่งคนกลุ่มแรกก็จะมีการคิดค้นสิ่งใหม่ (ดูจากสถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตรและการประดิษฐ์สิ่งใหม่) น้อยกว่าคนที่อยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับบุคคลโดยกลุ่มแรกจะพยายามลดทอนความขัดแย้งและการเผชิญหน้าจึงลดการหย่าร้างลงได้ แต่ก็ทำให้มีแรงกระตุ้นให้คิดใหม่ทำใหม่และคิดอะไรที่แตกต่างกันได้น้อยกว่าเช่นกัน
จึงทำให้มีข้อสรุปหลัก (ที่ท่านผู้อ่านหลายคนอาจเห็นแย้ง) ว่าคนที่ปลูกข้าวสาลีและกินขนมปังจึงกลายเป็นคนที่เป็นแกนนำในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของโลก ซึ่งหากมีมนุษย์ต่างดาวจับตาดูโลกเมื่อ 1000 ปีที่แล้ว ก็คงจะแปลกใจว่าทำไมคนตะวันตกที่สมัยนั้นป่าเถื่อนและล้าหลังกว่าคนเอเชียอย่างมาก (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบยุโรปเหนือกับจีน) กลับมีการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อนเอเชียและคงจะไม่รู้ว่าการพัฒนาที่แตกต่างกันนั้นเกิดจากกินขนมปัง (แซนวิช) กับการกินข้าว นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น